มิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ เคอิจิ ยามาโมโต เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คอนเน็คเต็ด ร่วมกับ รศ.ดร. บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย พร้อมด้วย ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ คุณธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เปิดตัวการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กร่วมกันภายใต้โครงการ “CU TOYOTA Ha:mo” ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เคอิจิ ยามาโมโต เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเครื่องยนต์และนวัตกรรมการขับขี่แบบไร้คนขับ ด้วยเหตุนี้เอง โตโยต้าจึงได้ประกาศแคมเปญ ‘Start Your Impossible’ เพื่อจุดประกายในความท้าทายให้เกิดการพัฒนาด้านการสัญจรเพื่อคุณและเพื่อคนทุกคน โดยเรามุ่งที่จะขับเคลื่อนสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยการผลิตรถยนต์และคิดค้นพัฒนาแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมสำหรับประชาชนและการขนส่งสินค้าต่างๆ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยระบบการคมนาคมสำหรับยุคหน้าอย่าง Ha:mo โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาในการเดินทางด้วยการเชื่อมต่อการคมนาคมโดยรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ากับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเพื่อให้การเดินทางสัญจรเป็นไปอย่างราบรื่นและปราศจากอุปสรรคต่างๆ โตโยต้าเชื่อว่าทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการคมนาคมได้คือการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กพิเศษให้ผู้คนสามารถใช้ร่วมกันเพื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระโดยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้ ระบบการเดินทางแบบ Ha:mo จึงถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น (ในโตโยต้าซิตี้ โตเกียว โอกายาม่า และโอกินาว่า) ประเทศฝรั่งเศส (ในเมืองเกรโนเบิล) และล่าสุด ณ วันนี้ คือที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่แรกที่โตโยต้าได้นำเอานวัตกรรมนี้มาใช้
ทางด้าน มิจิโนบุ ซึงาตะ เปิดเผยว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เดินหน้าเติบโตเคียงคู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นจึงมีการคิดค้นนวัตกรรมรถ Ha:mo นี้เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางสัญจรจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างอิสระเสรีและสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด โครงการนี้วางแผนที่จะให้ “CU TOYOTA Ha:mo” เป็นเวทีของนวัตกรรมแบบเปิด เพื่อการพัฒนาสังคมของการสัญจรในอนาคตร่วมกันด้วยการส่งเสริมให้ผู้คนและสังคมปรับตัวเข้ากับกับนวัตกรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกันอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาสังคม การเปิดโอกาสให้ทั้งบริษัทที่สนใจ นิสิตนักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ และองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ช่วยให้สามารถรวบรวมแนวคิดต่างๆ คัดเลือกแนวทาง พัฒนาแผนโครงการ ตลอดจนทดลองใช้ในพื้นที่จริง อันนำไปสู่สังเคราะห์แนวทางการแก้ไขเพื่อคนไทยในอนาคตที่จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน
ยังคงมีประเด็นปัญหาต่างๆ ในเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกันในสังคมไทย เราจะพัฒนาโครงการ CU TOYOTA Ha:mo เพื่อเป็นเวทีของนวัตกรรมแบบเปิด อันจะปูทางไปสู่การแสวงหาแนวทางการนำเอานวัตกรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกันมาใช้ในสังคมไทย ตลอดจนเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนชาวไทยสามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสังคมร่วมกับคณาจารย์และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลากรจากภาครัฐ และบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ CU TOYOTA Ha:mo
นินนาท ไชยธีรภิญโญ กล่าวว่า ในเบื้องต้น การศึกษาระบบ Car Sharing แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะเรียกว่าช่วงพัฒนา ใช้เวลา 2 ปี ซึ่งมีรถให้บริการทั้งหมด 10 คัน และจะเพิ่มจำนวนรถอีก 20 คัน ในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30 คัน หลังเสร็จสิ้นระยะแรก ทางโครงการจะทำการทบทวนและสรุปผล เพื่อเข้าสู่ระยะที่สองในรูปแบบธุรกิจยั่งยืนอย่างเต็มตัว โดยจะเชิญชวนให้ผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมลงทุน เพื่อขยายการให้บริการออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆ สำหรับพื้นที่ในการให้บริการในเบื้องต้น จะครอบคลุมบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสองฝั่ง โดยเตรียมสถานีจอดรถไว้ทั้งหมด 12 สถานี พร้อมทั้งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 สถานี และมีจำนวนช่องจอดรถให้บริการทั้งหมด 33 ช่องจอด ทำให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า ทั้ง MRT ที่สามย่าน, BTS ที่สยามสแควร์และสนามกีฬาแห่งชาติ รวมถึงรถโดยสารประจำทางหลายสาย กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการคือนิสิต อาจารย์ บุคลากรและประชาชนทั่วไป ผู้ใช้บริการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของโครงการผ่านระบบออนไลน์หรือมาสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการ ณ ชั้น1 อาคารมหิตลาธิเบศรแห่งนี้ โดยมีค่าสมาชิก 100 บาท ซึ่งโครงการจะคืนกลับในรูปแบบคะแนนสะสม สามารถนำมาแลกใช้บริการได้ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม เก็บค่าบริการที่ 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ 20 นาที เกินจากนั้น คิดค่าบริการเพิ่มนาทีละ 2 บาท โดยชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในรูปแบบบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของทุกธนาคารโดยผู้ใช้สามารถจองใช้งานและชำระค่าใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว