สายการบิน ‘แอร์ พรีเมีย’ ซึ่งมีฐานการบินอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติโซล อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินภายในภูมิภาคเอเชียไปยังกรุงฮานอย (ประเทศเวียดนาม) และกรุงโตเกียว (ประเทศญี่ปุ่น) เร็ว ๆ นี้ โดยมีแผนที่จะให้บริการเที่ยวบินบนเส้นทางบินระหว่างทวีปในปีต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ ภายในปี 2567 ‘แอร์ พรีเมีย’ ตั้งเป้าที่จะติดตั้งยาง ‘มิชลิน แอร์ เอ็กซ์’ (MICHELIN Air X) ที่มาพร้อมเทคโนโลยียางล้อที่แทบไม่มีการขยายตัว หรือ Near Zero Growth (NZG) อันเป็นสิทธิบัตรเฉพาะของมิชลิน ให้กับฝูงบินซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 จำนวน 10 ลำ
เทคโนโลยี NZG พัฒนาขึ้นในระยะแรกสำหรับเครื่องบินเจ็ทความเร็วเหนือเสียง หรือ “คอนคอร์ด” (Concorde) เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและการดำเนินงานที่เข้มงวด เนื่องจากยางล้อเครื่องบินใช้แรงดันลมยางสูง (20 บาร์) เมื่อเทียบกับยางล้อประเภทอื่น (2.5 บาร์ สำหรับยางรถยนต์) เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักเครื่องบินทั้งลำได้ ทั้งนี้ การเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเพื่อนำเครื่องขึ้นหรือร่อนลงจอดอาจส่งผลให้ยางล้อเครื่องบินขยายตัวจากแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ แต่ด้วยเทคโนโลยี NZG ที่ช่วยลดการขยายตัวของยางตามแนวเส้นผ่าศูนย์กลาง ส่งผลให้ยางมีความคงทนและทนทานต่อความเสียหายอันเกิดจากวัสดุแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น
การนำเทคโนโลยี NZG มาใช้ในยาง ‘มิชลิน แอร์ เอ็กซ์’ (MICHELIN Air X) ช่วยให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจโดยรวมของสายการบินฯ ลดลงเมื่อเทียบกับการใช้ยางเรเดียลมาตรฐานทั่วไป เนื่องจากยาง ‘มิชลิน แอร์ เอ็กซ์’ สามารถรองรับจำนวนครั้งในการนำเครื่องร่อนลงจอดได้สูงกว่าปกติถึงร้อยละ 30 ทั้งยังมีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงดียิ่งขึ้นและมีความทนทานต่อความเสียหายเป็นเยี่ยม นอกจากนี้ เทคโนโลยี NZG ยังช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับยางและลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดต่ำลงตามไปด้วย
วิรัช ตันสุวรรณนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย ธุรกิจยางเครื่องบิน ประจำมิชลินภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นประเทศจีน) เปิดเผยว่า เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ ‘แอร์ พรีเมีย’ ให้ความไว้วางใจเลือกมิชลินเป็นพันธมิตรผู้ดำเนินการติดตั้งยางล้อให้กับเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 ทุกลำทั้งฝูงบิน ทั้งนี้ ยาง ‘มิชลิน แอร์ เอ็กซ์’ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้งานกับเครื่องบินรุ่นใหม่ เนื่องจากไม่เพียงรับประกันความปลอดภัยขั้นสูงท่ามกลางสภาพแวดล้อมการใช้งานแบบสุดขั้ว แต่ยังรองรับการร่อนลงจอดหลายครั้งและช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้มากขึ้น จึงช่วยให้โลกพัฒนาไปอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น