เมอร์เซเดส-เบนซ์เตรียมความพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวภายในทศวรรษนี้ ในช่วงเวลาที่สภาวะตลาดเอื้ออำนวย โดยปรับกลยุทธ์จาก “รถยนต์ไฟฟ้านำ” (electric-first) เป็น “รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น” (electric-only) โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในฐานะบริษัทรถยนต์ระดับลักชัวรีแถวหน้าของโลก พร้อมเดินหน้าสู่โลกที่ปราศจากการปล่อยมลพิษและอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์
ทั้งนี้ ภายในปี 2565 เมอร์เซเดส-เบนซ์จะมีรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ (BEV) ในทุกเซกเมนต์รถยนต์ของบริษัท และนับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป รถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวออกมาทั้งหมดจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น โดยลูกค้าจะสามารถเลือกรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้ทุกรุ่นที่บริษัทผลิตขึ้น ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์มีความตั้งใจที่จะเร่งความเร็วในการปรับกลยุทธ์โดยยังคงเป้าหมายเดิมในการทำกำไร
โอลา คัลเลเนียส ประธานบริหาร เดมเลอร์ เอจี และเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังหมายรวมถึงการจัดสรรเงินลงทุนใหม่ ภายใต้การจัดการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับรักษาเป้าหมายในการทำกำไรของเราตามเดิม เพื่อการันตีความสำเร็จที่ยั่งยืนของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณพนักงานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่เพียบพร้อมด้วยประสบการณ์และความมุ่งมั่น ช่วยให้เรามั่นใจว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์จะประสบความสำเร็จในการก้าวสู่ยุคใหม่ที่น่าตื่นเต้นของวงการรถยนต์ในอนาคต และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้เปิดเผยแผนกลยุทธ์ที่มีความครอบคลุม โดยหมายรวมถึงการเร่งรัดการทำวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง โดยสำหรับการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ระหว่างปี 2565 ถึง 2573 จะมีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านยูโร การเร่งรัดและพัฒนาแผนพอร์ตโฟลิโอของรถยนต์ไฟฟ้ายังนับเป็นจุดเปลี่ยนของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่แท้จริง
แผนกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี โครงสร้างรถยนต์: ในปี 2568 เมอร์เซเดส-เบนซ์จะเปิดตัวโครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ 3 แบบ ได้แก่ 1.MB.EA ครอบคลุมรถยนต์นั่งขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ทั้งหมด โดยสร้างระบบโมดูลาร์ที่ปรับขนาดได้เพื่อเป็นแกนหลักไฟฟ้าสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ EV ในอนาคต 2.AMG.EA จะเป็นแพลตฟอร์มของรถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูงสำหรับลูกค้า Mercedes-AMG ที่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องเทคโนโลยีและสมรรถนะ 3.VAN.EA เปิดประตูสู่ยุคใหม่ของรถตู้ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขนส่งและเมืองที่ปลอดมลพิษในอนาคต
การบูรณาการในแนวดิ่ง: หลังการปรับระบบส่งกำลังใหม่เพื่อให้การวางแผน การพัฒนา การจัดซื้อ และการผลิตสอดคล้องในระนาบเดียวกัน เมอร์เซเดส-เบนซ์จะยกระดับการบูรณาการในแนวดิ่งในด้านการผลิตและการพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่ผลิตเองภายใน ขั้นตอนนี้หมายรวมถึงการเข้าซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่จากสหราชอาณาจักรอย่าง YASA ด้วย ซึ่งจะช่วยให้เมอร์เซเดส-เบนซ์สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีมอเตอร์ฟลักซ์แนวแกนที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษเจเนอเรชันต่อไป แบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ผลิตภายใน อาทิ eATS 2.0 เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์นี้ที่มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพและต้นทุนโดยรวมของระบบทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอินเวอร์เตอร์และซอฟต์แวร์ ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่ตั้งของบริษัทและซัพพลายเออร์หลายร้อยแห่งที่เชี่ยวชาญด้านส่วนประกอบรถยนต์ EV และเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการเร่งกลยุทธ์การมุ่งสู่การสร้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์
แบตเตอรี่: เมอร์เซเดส-เบนซ์ต้องมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่มากกว่า 200 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยวางแผนที่จะตั้งโรงงาน Gigafactory จำนวน 8 แห่งเพื่อผลิตแบตเตอรี่ร่วมกับพันธมิตรทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากเครือข่ายของโรงงานผลิตระบบแบตเตอรี่ 9 แห่งที่ได้วางแผนไว้ก่อนแล้ว แบตเตอรี่เจเนอเรชันต่อไปจะมีมาตรฐานสูงและเหมาะสำหรับใช้ในรถยนต์และรถตู้ของเมอร์เซเดส-เบนซ์กว่า 90% มอบความยืดหยุ่นที่มากพอต่อการนำเสนอโซลูชั่นเฉพาะบุคคลให้กับลูกค้าทุกคน ในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ เมอร์เซเดส-เบนซ์มีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ในยุโรปเพื่อพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่และโมดูลในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำให้มั่นใจว่า ยุโรปยังคงเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไปในยุคของรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ยังช่วยให้เมอร์เซเดส-เบนซ์มีโอกาสได้ปรับเปลี่ยนเครือข่ายการผลิตระบบส่งกำลังที่มีอยู่เดิม และด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ล้ำหน้าที่สุดในรถยนต์และรถตู้ที่พัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง เมอร์เซเดส-เบนซ์จึงตั้งเป้าหมายที่จะขยายระยะการใช้งานของวงจรชีวิตในการผลิตแบตเตอรี่แต่ละรุ่น ซึ่งสำหรับแบตเตอรี่เจเนอเรชันต่อไป เมอร์เซเดส-เบนซ์จะทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่าง SilaNano เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานต่อไปโดยใช้คอมโพสิตซิลิกอนคาร์บอนในแอโนด ซึ่งจะช่วยให้แบตเตอรี่มีระยะเวลาในการใช้งานที่นานขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่ใช้เวลาในการชาร์จสั้นลง สำหรับเทคโนโลยีโซลิดสเตต เมอร์เซเดส-เบนซ์กำลังเจรจากับพันธมิตรเพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีความหนาแน่นของพลังงานและความปลอดภัยที่สูงขึ้น
การชาร์จ: เมอร์เซเดส-เบนซ์กำลังเริ่มต้นกำหนดมาตรฐานใหม่ในการชาร์จที่เรียกว่า “Plug & Charge” ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเสียบปลั๊ก ชาร์จ และถอดปลั๊กโดยไม่ต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติมในการตรวจสอบและการชำระเงิน Plug & Charge จะเปิดตัวพร้อมกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่น EQS ในปีนี้ ทั้งนี้ Mercedes me Charge เป็นหนึ่งในเครือข่ายการชาร์จที่ใหญ่ที่สุดในโลก และปัจจุบันประกอบด้วยจุดชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับและกระแสตรงมากกว่า 530,000 จุดทั่วโลก นอกจากนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังทำงานร่วมกับบริษัทเชลล์ในการขยายเครือข่ายการชาร์จ ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงเครือข่ายการชาร์จแบตเตอรี่ของเชลล์ได้ดียิ่งขึ้นผ่านจุดชาร์จมากกว่า 30,000 จุดภายในปี 2568 ทั้งในยุโรป จีน และอเมริกาเหนือ รวมถึงจุดชาร์จพลังงานสูงกว่า 10,000 จุดทั่วโลก เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังวางแผนที่จะเปิดตัวสถานที่ชาร์จระดับพรีเมียมหลายแห่งในยุโรป เพื่อมอบประสบการณ์การชาร์จแบบเฉพาะตัวด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นที่สุด
VISION EQXX: เมอร์เซเดส-เบนซ์กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา Vision EQXX รถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้จริงด้วยระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตรโดยกำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลขหลักเดียวสำหรับกิโลวัตต์ชั่วโมง ต่อ 100 กิโลเมตร (มากกว่า 6 ไมล์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) ที่ความเร็วปกติในการขับขี่บนทางหลวง ทีมงานจากหลากหลายสาขา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากแผนก F1 High Performance Powertrain (HPP) ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ กำลังทำงานรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วด้วยความมุ่งมั่นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานของโครงการ ซึ่งพร้อมจะเปิดตัวให้ได้ชมกันทั่วโลกในปี 2565 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีอยู่ใน Vision EQXX จะถูกดัดแปลงและนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้งานในโครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ
เมอร์เซเดส-เบนซ์กำลังเตรียมเครือข่ายการผลิตทั่วโลกสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น (electric-only) ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งด้วยการลงทุนในระยะเริ่มต้นในการผลิตที่มีความยืดหยุ่นและระบบการผลิต MO360 ที่ทันสมัย ทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์สามารถผลิตรถยนต์ BEV จำนวนมากได้แล้วในวันนี้ และไม่เกินปีหน้า รถยนต์ไฟฟ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์ 8 รุ่นจะถูกผลิตจากโรงงาน ผลิต 7 แห่งใน 3 ทวีป นอกจากนี้ โรงงานประกอบรถยนต์และแบตเตอรี่ทั้งหมดที่ดำเนินการโดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี จะเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตที่ปราศจากคาร์บอนภายในปี 2565 และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้ผนึกกำลังกับ GROB ผู้นำระดับโลกด้านการผลิตแบตเตอรี่และระบบอัตโนมัติของเยอรมนี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทั้งในเรื่ององค์ความรู้และกำลังการผลิตแบตเตอรี่ ความร่วมมือครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การประกอบโมดูลแบตเตอรี่และการประกอบแพ็ค นอกจากนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังมีแผนที่จะเพิ่มโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่แห่งใหม่ในเมืองคุปเปนไฮม์ ประเทศเยอรมนี เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และรักษาความสามารถในการรีไซเคิล โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2566 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่มีแนวโน้มในทางบวก
การเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เมอร์เซเดส-เบนซ์มีความพร้อมและกำลังดำเนินการอยู่ ภายใต้การทำงานร่วมกันกับตัวแทนพนักงาน เมอร์เซเดส-เบนซ์พร้อมเดินหน้าเปลี่ยนแปลงด้านกำลังคนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แผนการปรับทักษะใหม่ที่มีความครอบคลุม การเกษียณอายุก่อนกำหนด และการเข้าซื้อกิจการ TechAcademies จะเสนอการฝึกอบรมเพื่อนร่วมงานสำหรับคุณสมบัติที่ต้องการสำหรับอนาคต ทั้งนี้ในปี 2564 เพียงปีเดียว พนักงานประมาณ 20,000 คนในเยอรมนีได้รับการฝึกอบรมด้านการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (e-mobility) เพื่อให้เป็นไปตามแผนสำหรับการพัฒนาระบบปฏิบัติการ MB.OS ที่จะมีการสร้างงานด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ใหม่กว่า 3,000 ตำแหน่งทั่วโลก
เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังคงมุ่งมั่นต่อเป้าหมายในการทำกำไรที่กำหนดไว้ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2563 เป้าหมายของปีที่แล้วอิงจากการสันนิษฐานว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์จะสามารถขายรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 25% ภายในปี 2568 ส่วนการปรับแผนในวันนี้จะอิงจากส่วนแบ่งของยอดขาย xEV ที่สันนิษฐานว่าจะสูงสุดถึง 50% ภายในปี 2568 รวมถึงสถานการณ์ในตลาดสำหรับการขายรถยนต์ใหม่ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ภายในสิ้นทศวรรษนี้ สิ่งที่สำคัญคือการเพิ่มรายได้สุทธิต่อหน่วยโดยการเพิ่มสัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ เช่น Mercedes-Maybach และ Mercedes-AMG ในขณะเดียวกันกับที่เมอร์เซเดส-เบนซ์สามารถควบคุมราคาและการขายได้โดยตรงมากขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากบริการด้านดิจิทัลจะช่วยสนับสนุนผลลัพธ์นี้ต่อไป เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังมุ่งหน้าลดต้นทุนทั้งต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ต่อไป พร้อมทั้งลดส่วนแบ่งการลงทุนของเงินลงทุน แพลตฟอร์มแบตเตอรี่ทั่วไปและโครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่ปรับขนาดได้ รวมทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ จะช่วยให้เกิดมาตรฐานที่สูงขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง สัดส่วนต้นทุนแบตเตอรี่ภายในรถคาดว่าจะลดลงอย่างมาก การจัดสรรเงินทุนจะถูกปรับจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านำ (EV-first) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น (EV-only) ส่วนการลงทุนในเครื่องยนต์สันดาปและเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด จะลดลง 80% นับจากปี 2562 ถึง 2569 ซึ่งภายใต้แนวความคิดทั้งหมดนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์คาดการณ์อัตรากำไรของบริษัทในยุคของรถยนต์ BEV จะอยู่ในอัตราเดียวกันกับยุคของเครื่องยนต์สันดาป