มิโนรุ อามาโนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากวิกฤติของโควิด-19 แม้การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะเบาบางและคลี่คลายไปมาก แต่สถานการณ์ทั่วโลกและรอบประเทศยังคงมีความน่าเป็นห่วง กระทบต่อการตัดสินใจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นไปเชื่องช้า โดยเฉพาะในตลาดรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วงครึ่งปีหลังยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายฝ่ายเองก็ต่างคาดหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ น่าจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
สำหรับตัวเลขยอดขายรถยนต์ในตลาดรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2563 มียอดขาย 531,322 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ยังคงมีตัวเลขลดลงถึง 30.26% ส่วนทางด้านซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ในเดือนกันยายน 2563 มียอดขาย 2,145 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 คิดเป็นอัตรา 112.60% และยอดขายรวมของรถยนต์ซูซูกิในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2563 มียอดขายอยู่ที่ 17,451 คัน คิดเป็นอัตรา 94.82% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นรุ่น SWIFT 7,136 คัน CELERIO 2,856 คัน CIAZ 2,278 คัน XL7 1,104 คัน ERTIGA 2,202 คัน CARRY 1,828 คัน JIMNY 47 คัน รวม 17,451 คัน โดยรุ่นที่สร้างยอดขายสูงสุดให้ซูซูกิยังคงเป็นรุ่น SUZUKI SWIFT ช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ทำการแนะนำ SUZUKI SWIFT GL MAX EDITION สปอร์ตแฮทช์แบ็กอีโคคาร์รุ่นพิเศษออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นรุ่นที่ทำการพัฒนาต่อยอดมาจาก SWIFT GL รุ่นมาตรฐาน เพื่อมาเติมเต็มความต้องการของลูกค้าด้วยราคาเริ่มต้นที่ 541,000 บาท ที่กวาดยอดจองมาแล้วกว่า 1,580 คัน นับตั้งแต่มีการแนะนำเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ด้าน วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ยังไม่มีวัคซีนเพื่อต้านหรือรักษาออกมาอย่างเป็นทางการ และถึงแม้ประเทศไทยจะปลดล็อค ผ่อนคลายมาตรการความเข้มงวดในการควบคุมโรคหลายๆ ด้านลงแล้วก็ตาม แต่ผู้คนยังคงต้องระมัดระวังตนเองพร้อมทำการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ (NEW NORMAL) ซึ่งนอกจากทุกคนต้องปรับตัวแล้ว ธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่เช่นกัน สำหรับ ซูซูกิ มีความพยายามอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมการวางแผนทางการเงินที่รัดกุมขึ้น เน้นการเก็บออมและสำรองเงินสดไว้ใช้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยด้านสินค้า ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เลือกใช้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นและเน้นความคุ้มค่า คุ้มราคามากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเลือกซื้อรถยนต์คันใหม่ที่จะใช้เวลาในการตัดสินใจอย่างรอบคอบและรัดกุม คำนึงถึงเรื่องของราคาและคุณภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันให้มีความคุ้มค่าอย่างสูงสุด ซึ่งส่งผลดีให้กับรถยนต์ซูซูกิหลายรุ่นทำยอดขายได้ดีขึ้นในช่วงเวลานี้
SUZUKI SWIFT GL MAX EDITION คือรถยนต์รุ่นใหม่ที่ทำการแนะนำออกมา ซึ่งมีส่วนในการส่งเสริมให้ตัวเลขยอดขายขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่วนรถยนต์อีกรุ่นที่มีอัตราการเติบโตของยอดขายที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ SUZUKI CELERIO มียอดจำหน่ายในเดือนมกราคม-กันยายน 2563 จำนวน 2,856 คัน เพิ่มสูงขึ้น 328.65% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกันยายน มีอัตราเติบโตสูงถึง 635.59% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา นับเป็นตัวเลือกที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการเดินทางได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจาก SUZUKI CELERIO จะมีสมรรถนะการขับขี่ของตัวรถและเครื่องยนต์ที่ออกแบบมาให้มอบพละกำลังและความสามารถเกินตัวแล้วนั้น ยังทำราคาจำหน่ายให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจครอบครองเป็นเจ้าของได้ง่าย เริ่มต้นเพียง 318,000 บาท และผ่อนเริ่มต้นเพียงเดือนละ 1,999 บาท SUZUKI XL7 คืออีกหนึ่งรุ่นที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา สร้างยอดจองไปได้แล้วมากกว่า 2,600 คัน และดำเนินการส่งมอบรถให้ลูกค้าแล้วถึงเดือนกันยายนได้ถึงจำนวน 1,104 คัน โดยซูซูกิกำลังเร่งส่งมอบให้แก่ลูกค้าให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ อีกทั้งซูซูกิยังมีแผนในการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครบ 130 แห่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564